top of page
  • Chayada

7 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2022

อัปเดตเมื่อ 20 ธ.ค. 2564


1. Security Cross-Cutting Issues เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยไซเบอร์

อาชญากรรมออนไลน์กลายเป็นปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้นทันทีเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนต่างหันมาใช้งานอินเทอร์เน็ตกันมากกว่าเดิม เพราะข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ เลขบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต ฐานข้อมูลลูกค้า หรือแม้กระทั่งคลาสเรียนออนไลน์ ต่างก็เสี่ยงโดนขโมยและโจมตีจากแฮ็กเกอร์


ดังนั้นเทรนด์เทคโนโลยีที่จะมีบทบาทมากที่สุดคือ การยกระดับมาตรการการป้องกันภัยทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การฝึกอบรมพนักงานในองค์กรและผู้บริโภคให้สามารถแยกแยะอีเมลที่เข้าข่าย Phishing ได้เอง การใช้ Machine Learning วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ระบบจดจำลักษณะการโจมตีทางไซเบอร์เพื่อป้องกันเหตุร้ายในอนาคต และการใช้วิธียืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (MFA) เป็นต้น


2. Sustainability ความยั่งยืน

แม้ปัจจุบันผู้คนจำนวนมากทั่วโลกต่างหันมาสนใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์พุ่งสูงขึ้นกว่าครั้งไหน ปริมาณการใช้ทรัพยากรทั้งพลังงานไฟฟ้าและวัสดุต่าง ๆ จึงพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งย่อมก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ความยั่งยืนจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังให้ความสนใจและร่วมกันหาทางออก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ทนทานและมีอายุการใช้งานนานขึ้น การใช้วัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น


3. MOOCs คอร์สเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่

ก้าวสู่ยุคยุคดิจิทัลบวกกับการแพร่ระบาดของวิกฤตโควิด- 19 เช่นนี้ MOOCs จึงกลายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะเปิดรับผู้เรียนจำนวนมากในคราวเดียวกันได้ผ่านทางออนไลน์ ทำให้ค่าเล่าเรียนมีราคาถูกแถมยังนั่งเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้กับผู้คนจำนวนมากทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีทักษะใหม่ ๆ ที่ตลาดแรงงานแห่งโลกอนาคตกำลังต้องการด้วย เช่น การบริหารโปรเจกต์ การออกแบบ UX/UI หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์ข้อมูล


ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกหลายแห่งเปิดคอร์สออนไลน์ขนาดใหญ่แบบนี้แล้ว แถมหลายคอร์สก็เปิดสอนแบบฟรี ๆ อีกด้วย เช่น Harvard University และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) นอกจากนี้ ก็ยังมีแพลตฟอร์มคอร์สเรียนออนไลน์ชื่อดังอีกมากมาย เช่น Coursera และ Udemy ที่มีจำนวนผู้เข้าเรียนแล้วกว่า 82 ล้านคนทั่วโลก ซึ่ง IEEE มองว่า MOOCs จะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในปี 2022 และ อาจ Disrupt การเรียนการสอนระดับชั้นอุดมศึกษาทั่วโลกในอนาคต


4. Quantum Computing การประมวลผลแบบควอนตัม

เทคโนโลยีการประมวลผลแบบควอนตัม หรือ Quantum Computing เป็นสิ่งที่หลายคนคาดหวังว่าจะช่วยพลิกโฉมให้ระบบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์มีความรวดเร็วและทรงพลังมากยิ่งขึ้นหลายสิบเท่า แต่ว่าแม้จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเริ่มทดลองใช้งานแล้ว แต่ขีดความสามารถของ Quantum Computing ในปัจจุบัน ก็ยังค่อนข้างห่างไกลจากคอมพิวเตอร์ปกติทั่วไปที่พบเห็น เพราะบริษัทชั้นนำของโลก เช่น IBM Microsoft และ Google ที่เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในตอนนี้ก็เพิ่งประสบความสำเร็จในการสร้าง Qubits ซึ่งเป็นหน่วยประมวลผลข้อมูลขนาดเล็กในระดับอะตอม ได้ประมาณ 50-65 Qubits เท่านั้น


ขณะที่นักวิทยาศาสตร์หลายรายคาดการณ์ว่า กว่าที่ Quantum Computing จะมีประสิทธิภาพมากพอจนสามารถออกวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เป็นวงกว้างได้นั้นจะต้องมีจำนวน Qubits อย่างน้อย 1,000 – 1,000,000 หน่วยเสียก่อน ดังนั้นคงต้องรอกันอีกประมาณสิบปี จึงจะได้เห็นว่าเทคโนโลยีอันล้ำสมัยนี้ช่วยยกระดับธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น


5. Nanotechnology นาโนเทคโนโลยี

นาโนเทคโนโลยี หรือ การควบคุมและดัดแปลงสสารในระดับเล็กขนาดอะตอมหรือโมเลกุล ถือว่าเป็นนวัตกรรมล้ำสมัยที่หลายอุตสาหกรรมในปัจจุบันได้มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น แคปซูลบรรจุกล้องขนาดจิ๋วที่ผู้ป่วยสามารถกลืนลงไปเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้กระทั่งการผลิตเครื่องสำอาง ครีมกันแดด หรือยางรถยนต์ ก็นำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์และพัฒนาสินค้าต่าง ๆ เช่นกัน


ตัวอย่างการใช้งาน เช่น อุตสาหกรรมความงามต้องใช้ส่วนผสมขนาดเล็กจิ๋วระดับนาโนเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติกันรังสี UV จากแสงแดด หรือซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์ผิวได้ดียิ่งขึ้น ส่วนในการผลิตยางรถยนต์ นาโนเทคโนโลยีสามารถช่วยเพิ่มความทนทานและอายุการใช้งานของสินค้า แถมยังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงได้อีกด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วเมื่อเราไม่ต้องเปลี่ยนยางรถยนต์กันบ่อย ๆ ก็ส่งผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนั่นเอง


6.วงจรรวมแบบสามมิติ (3D Integrated Circuits)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยและผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้พยายามพัฒนาขีดความสามารถของวงจรไฟฟ้าให้สามารถรับส่งข้อมูลและประมวลผลได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการทำให้ต้นทุนในการผลิตถูกลงกว่าเดิม ดังนั้นพวกเขาจึงออกแบบวงจรรวมใหม่ จากเดิมที่เป็นวงจรลักษณะระนาบ (planar circuit) ให้เป็นวงจร 2.5 และ 3 มิติ ซึ่งเน้นการประกอบแผงวงจรแบบทับซ้อนกัน


อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังคงเป็นเรื่องของการวิจัยและทดสอบที่ต้องผ่านด่านอีกหลายขั้นตอน นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจต้องรอถึงประมาณปี 2025 กว่าที่วงจรรวมแบบ 3D นี้จะเข้าสู่การผลิต Mass Production แล้วออกวางจำหน่ายในท้องตลาดได้


7. Open Intellectual Property Movement การให้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสมบัติสาธารณะ

การเปิดให้ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองกลายเป็นสมบัติของสาธารณะที่อนุญาตให้คนอื่น ๆ สามารถนำไปพัฒนา ประยุกต์ และดัดแปลงต่อได้ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น คลังเก็บข้อมูลออนไลน์อย่าง Wikipedia ซอฟต์แวร์ Open Source ที่เปิดให้เข้าถึงและดาวน์โหลดได้ฟรี การเผยแพร่งานวิจัยใหม่ ๆ สู่สาธารณะ หรือแม้กระทั่งการแบ่งปันโมเดล 3D ให้คนอื่นใช้งานได้ เช่น เว็บไซต์ Blendswap ซึ่งกระแสความนิยมดังกล่าวนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมดี ๆ ให้เกิดขึ้นจริงในสังคมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


เรื่องของ IT ยกให้เป็นหน้าที่ของ ProOne IT ดูแล

ติดต่อสอบถามข้อมูลบริการได้ที่

Tel. 02 619 2161 กด 1 (ฝ่ายขาย)

Email : sales@professional-one.com

Line@ : Proonesales หรือคลิกลิงก์



ขอบคุณข้อมูลจาก computer.org, bangkokbanksme.com


ดู 149 ครั้ง
bottom of page