top of page
  • Chayada

ฝ่าวิกฤติโควิดและสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยการบริหารความเสี่ยงองค์กร


โดยทั่วไป บริษัทมักจะให้การสนับสนุนในเรื่องการบริหารความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Management) ทว่ามักไม่เข้มงวด แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลาย ๆ บริษัทตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงองค์กรเพราะเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ในธุรกิจร้านอาหารขนาดใหญ่ อาจจะต้องเจอกับความเสี่ยงจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากที่สามารถรับประทานอาหารที่มีราคาค่อนข้างสูง อาจจะเปลี่ยนไปรับประทานอย่างอื่นที่ราคาถูกลงหรือราคาเท่ากันแต่คุ้มค่ามากกว่า หรืออาจต้องเพิ่มบริการส่งอาหารถึงบ้าน (Food Ddelivery) จากที่ไม่เคยมีบริการนี้มาก่อน การบริหารความเสี่ยงองค์กรไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องแค่วิธีการหรือ กระบวนการเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงเป้าหมายขององค์กรที่จะเติบโตทางธุรกิจ ดังนั้นบริษัทที่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืนจึงต้องเข้มงวดกับการบริหารความเสี่ยงองค์กรมากขึ้น


“งานวิจัยของทาง Gartner เผยว่า ความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์อย่างคล่องตัว เกิดขึ้นบ่อยมากแม้ว่าจะมีกระบวนการที่ชัดเจนอยู่แล้ว”


Gartner รายงานว่า การมีผังงานที่ซับซ้อนและคู่มือที่อธิบายอย่างละเอียดมีจุดประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่ในช่วงการเกิดวิกฤต เช่น สถานการณ์การระบาดของโควิด คู่มือจะยากต่อการใช้งานและใช้เวลานานในทำความเข้าใจและปฏิบัติตาม


การบริหารความเสี่ยงองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการศึกษาของ Gartner พบว่าการจัดการบริหารความเสี่ยงองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจะต้องประกอบไปด้วย

  • การรับมืออย่างรวดเร็วโดยดูจากผลกระทบเป็นหลัก (Iimpact-based) เพื่อสร้างขั้นตอนดำเนินการรับมือวิกฤตที่ทวีความรุนแรง

  • ผู้นำองค์กรที่รับผิดชอบในการเฝ้าสังเกตการณ์ความเสี่ยงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะต้องสามารถให้คำแนะนำที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ง่าย และรู้เวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอข้อมูลเสนอต่อทีมบริหารวิกฤติขององค์กรเพื่อลดระดับความเสี่ยง


การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงแก่องค์กรแบบไม่ทันเตรียมตัว ซึ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอนอีกด้วยซึ่งในการยกระดับการจัดการบริหารความเสี่ยงวิธีเดิม ๆ จะละเลยเรื่องนี้ไป ทำให้ล่าช้าหรือสายเกินไปในการจัดการ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เมื่อมีการรายงานการ Lockdown จากประเทศจีน องค์กรทางตะวันส่วนใหญ่มีเวลาหลายสัปดาห์ในการจัดการกับข้อมูลการรายงานนี้แต่พวกเขาก็เลือกที่จะรอดู



“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริหารหันมาใส่ใจการจัดการบริหารความเสี่ยงองค์กร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พวกผู้บริหารต้องเข้าใจว่าธุรกิจจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าการหลีกเลี่ยง”


สถานการณ์ในตอนนี้ เกณฑ์การยกระดับปัญหาอาจต้องรีบจัดการ เนื่องจากต้องดูก่อนว่าการจัดการตรงไหนที่จะได้รับผลกระทบจริง ๆ บริษัทที่เตรียมตัวเรื่องการบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างดีในขณะที่การแพร่ระบาดยังอยู่ในวงแคบจะสามารถสามารถร่างแผนฉุกเฉินไว้ใช้ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงได้

นอกจากนี้ งานวิจัยของทาง Gartner ได้เผยว่า การตอบสนองต่อปัญหากับสถานการณ์แบบยืดหยุ่นเกิดขึ้นบ่อยมากแม้ว่าจะมีกระบวนการที่ชัดเจนอยู่แล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทีมบริหารความเสี่ยงเชิงรุก ได้กำหนดเกณฑ์ในการยกระดับปัญหาไว้ค่อนข้างต่ำเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้นหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ส่วนผู้บริหารสายงานก็จะรู้สึกมีอำนาจในการหยิบยกประเด็นขึ้นมา ซึ่งอาจนำไปสู่การบรรเทาปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


ความสอดคล้องในการจัดการความเสี่ยง

กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การจัดการความเสี่ยงขององค์กรมีประสิทธิภาพคือ ผู้บริหารจะต้องมีส่วนร่วมในการประเมินความเสี่ยงภายในบริษัทหรือองค์กรของตนเอง ทั้งนี้เพื่อมั่นใจได้ว่าการจัดทำเรื่องการจัดการความเสี่ยงขององค์กรสามารถกำหนดเจ้าของงานให้แก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจสุงสุดขององค์กร

มุมมองในการให้ทีมบริหารมีส่วนร่วมนี้ให้ความชัดเจนและสามารถบอกทิศทางขององค์กรได้ว่าความเสี่ยงบางอย่างสามารถเป็นภัยต่อเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ได้ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริหารสามารถดูล่วงหน้าได้ว่าความเสี่ยงอยู่ใกล้หรือไกลเพียงใด การเกิดความเสี่ยงจะไปกระตุ้นการแก้ปัญหาซึ่งขับเคลื่อนโดยทีมผู้บริหารและแผนสำรองที่ทำไว้


บางครั้งการสนับสนุนการจัดการความเสี่ยงยังทำให้องค์กรต้องยอมเสี่ยงบางอย่างเพื่อที่คว้าโอกาสที่เคยพลาดไป “ความเสี่ยงเป็นเหมือนคอเลสเตอรอล มีทั้งชนิดดีและไม่ดี” Matt Shinkmand รองประธานของ Gartner กล่าว ความเสี่ยงชนิดไม่ดีจะนำองค์กรไปสู่หายนะ แต่ถ้าเป็นความเสี่ยงชนิดดีจะสามารถช่วยให้องค์กรเติบโตและสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาล


ค่าเสียโอกาส

นอกจากจะสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การจัดการความเสี่ยงมีกระบวนการและมีประสิทธิภาพที่ดีในการช่วยบริษัทและองค์กรในการรับมือกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม ในปี 2019 Gartner ได้ทำการตรวจสอบองค์กร 388 แห่ง พบว่าองค์กรต้องเสียค่าเสียโอกาสต่าง ๆ โดยที่ความเสี่ยงอาจจะยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ

ในความเป็นจริง ถ้าการจัดการความเสี่ยงเป็นไปอย่างล่าช้า จะส่งผลให้เกิดค่าเสียโอกาสเป็นเงินจำนวนมาก บริษัทที่มีมูลค่าตลาดเฉลี่ยที่ 5 พันล้านดอลลาร์ จะต้องมีค่าเสียโอกาสในการล่าช้าถึง 99 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว การจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพสามารถทำประโยชน์ทางธุรกิจได้หลายประการ ตัวอย่างเช่น การที่บริษัท A มีการจัดการความเสี่ยงที่ดี จะสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับสูง เนื่องจากมีการรับประกันว่า บริษัทมีแผนสำรองในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อผู้ถือหุ้นอาวุโสหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทราบ พวกเขาก็อาจจะให้เงินลงทุนกับบริษัทมากเป็นสองเท่าก็ได้ซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด


โดยสรุปแล้ว การจัดการบริหารเสี่ยงองค์กร หรือ EEnterprise Risk Management มีความจำเป็นมากในเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ขององค์กรเอง ถ้าหากบริษัทหรือองค์กรไหนไม่มีการจัดการบริหารความเสี่ยง เมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่มีแผนสำรองในการจัดการ ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสในการทำธุรกิจนั้น ๆ ไป เนื่องจากต้องไปเสียเวลาแก้ไขปัญหา การเกิดการแพร่ระเบิดของโควิด-19 ทำให้หลาย ๆ องค์กรกระตือรือร้นในการจัดการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 สร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก บางธุรกิจที่กำลังดำเนินไปด้วยดีก็อาจจะถึงขั้นล้มละลาย บางธุรกิจอาจจะไม่ได้มีโอกาสพัฒนาต่อได้ ดังนั้นการเกิดการระบาดของโควิด-19 จึงเป็นเหมือนบทเรียนที่ช่วยขับเคลื่อนให้กับองค์กรและบริษัทต่าง ๆ ให้มีการจัดการความเสี่ยงได้อย่างประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันได้ตั้งตัวได้ จากที่การจัดการความเสี่ยงเป็นสิ่งที่บริษัทมองข้าม แต่ตอนนี้ควรกลายเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ


Gartner. (2020). COVID-19 Makes a Strong Business Case For Enterprise Risk Management. [Online] Available from: https://www.gartner.com/smarterwithgartner/covid-19-makes-a-strong-business-case-for-enterprise-risk-management/ [accessed 26 April 2021].


ดู 3 ครั้ง

Comentarios


bottom of page