ในขณะที่เมืองไทยกำลังจะให้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) มีผลบังคับใช้วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 หลังจากเลื่อนมาเพราะสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในปีที่แล้ว (ณ วันที่เขียน ยังไม่มีการประกาศเลื่อนอีกครั้ง) แต่ฝั่งยุโรปและอเมริกา ตื่นตัวกับเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเป็นอย่างมากถึงมากที่สุด ญี่ปุ่นนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะคุ้นเคยกับการควบคุมข้อมูลสำคัญมาโดยตลอด คู่กัดที่เป็นข่าวดังเมื่อไม่นานมานี้ คือ Tim Cook CEO ของ Apple และ Mark Zuckerberg CEO ของ Facebook ทั้งสองขัดแย้งกันมากว่า 10 ปีแล้ว เรื่องข้อมูลความเป็นส่วนตัว (Data Privacy) แต่ดุเดือดมากขึ้นเมื่อ Apple ประกาศว่า iOS 14 จะมีระบบ App tracking
Tim Cook ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดในหัวข้อ “A path to empowering user choice and boosting user trust in advertising” ในงาน Computers, Privacy and Data Protection Conference (CPDP) เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีข้อความพาดพิงประมาณว่า "หากธุรกิจที่สร้างขึ้นจากการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานโดยผู้ใช้งานมีทางเลือกแบบที่ไม่มีทางเลือกเลย ธุรกิจนั้นไม่สมควรได้รับการยกย่อง แต่สมควรต้องปฏิรูป" งานนี้คนฟังรู้กันว่าหมายถึงใครไปไม่ได้นอกจากบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่
การอัปเดต iOS 14 ที่กำลังจะมาถึงของ Apple จะมีฟีเจอร์ App Tracking Transparency ทำให้ผู้ใช้งานอุปกรณ์ของ Apple เลือกได้ว่า จะให้ ‘Facebook’ ติดตามข้อมูล (Tracking) ความเคลื่อนไหวของเราทั้งบน Facebook, แอปพลิเคชันของแพลตฟอร์มอื่นๆ, รวมถึงเว็บไซต์อื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลโดยตรงกับ Facebook ที่จะทำให้การทำ Targeting Ads มีประสิทธิภาพน้อยลง และผลที่ตามมาก็จะทำให้แบรนด์และเอเจนซีต่างๆ อาจจะต้องพิจารณาการซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มของพวกเขามากขึ้นในอนาคต
Facebook ตำหนิ Apple ว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้โลกอินเทอร์เน็ตเสรี (Free Internet) ต้องอวสาน โดยยกเหตุผลที่ว่า หากผู้ลงโฆษณาไม่สามารถทำโฆษณาแบบ Personlized Ads โดยการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้มา ผู้ให้บริการหลายเจ้าก็อาจจะจำเป็นต้องคิดค่าใช้บริการแพลตฟอร์มของพวกเขาแบบสมาชิก (Subscription) รวมถึงอาจจะต้องคิดค่าใช้จ่ายแบบการซื้อเพิ่มในแอปฯ
(In-App Purchase) ซึ่งจะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อบริโภคคอนเทนต์มีต้นทุนราคาที่ตัวผู้ใช้งานต้องจ่ายเอง Mark ยังอ้างอีกด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงด้านการให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกในการให้ติดตามข้อมูลส่วนบุคคลนี้จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กหลายล้านคนต้องประสบปัญหาในการสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง เนื่องจากทำให้การโฆษณาสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีประสิทธิภาพลดลงตามไปด้วย
การได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ดีเพราะข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลในบัตรประชาชนของเราสามารถนำไปทำธุรกรรมต่างๆได้ถ้าควบคุมได้ไม่ดี
ถึงตอนนี้ในฐานะเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเอง คุณอยากได้ทางเลือกในการรักษาความเป็นส่วนตัวแบบทีม Apple หรือเปิดๆไปเลย เพราะชอบให้แอปพลิเคชันนำเสนอข้อมูลหรือโฆษณาที่เหมาะสมกับความชอบของตัวเองอยู่แล้ว คุณคิดว่าแบบทีมไหนดี?
การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเป็นแนวโน้มของสังคมโลกที่ตระหนักในเรื่องนี้มากๆ บริษัทที่ทำธุรกิจกับประเทศในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ คงต้องมีนโยบายและมาตรการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ เป็นหนึ่งเรื่องที่บริษัทต้องทบทวนว่ามีระบบควบคุมและบันทึกครอบคลุมเหมาะสมหรือไม่
ขอบคุณขอมูลอ้างอิงจาก
www.thestandard.co
www.cnbc.com
www.techsauce.co
www.cpdpconferences.org
Comments